เนื้อหาที่
1
เรื่อง
หลักการเขียนรายงานทางวิชาการ
ตอนที่
1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรายงาน
การเขียนรายงานทางวิชาการ
จะให้ความสำคัญกับการจัดรูปแบบและองค์ประกอบเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้เขียนรายงานจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการจัดรูปแบบและองค์ประกอบของรายงานทางวิชาการ
เพื่อจะได้จัดทำรายงานทางวิชาการได้ถูกต้อง
ความหมายของรายงาน
คำว่า “รายงาน” เป็นคำนาม
แปลว่า
เรื่องราวที่ไปศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาเสนอที่ประชุม ครูอาจารย์
หรือผู้บังคับบัญชา เป็นต้น เป็นคำกริยา แปลว่า บอกเรื่องราวของการงาน
เช่น รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ (อำไพวรรณ ทัพเป็นไทย
อ้างถึงใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2542 , 2546 : 953)
รายงาน (report) เป็นเอกสารทางวิชาการที่นักศึกษารวบรวมและเรียบเรียงขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้เสริมความรู้และทักษะในรายวิชาที่กำลังศึกษาอยู่
(พูลสุข เอกไทยเจริญ , 2539 : 2)
สรุปได้ว่ารายงานเป็นการนำเสนอเรื่องราวทางวิชาการ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีระบบ
มีการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
และอ้างอิงหลักฐานที่มาอย่างมีหลักเกณฑ์ แล้วนำมาเรียบเรียงอย่างมีขั้นตอน และเขียนหรือพิมพ์ให้ถูกต้องตามแบบแผนที่กำหนด ถือว่ารายงานเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการศึกษา
ประเภทของรายงาน
รายงานโดยทั่วๆ
ไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ รายงานทั่วไป และ รายงานทางวิชาการ
1. รายงานทั่วไป เป็นรายงานที่เสนอข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ
ที่เกี่ยวกับองค์การ สถาบัน หรือข้อคิดเห็นของบุคคล
ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ สถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว
หรือกำลังดำเนินการอยู่ หรือจะดำเนินการต่อไปเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ
ได้แก่
1.1 รายงานในโอกาสต่างๆ
เช่น รายงานแสดงผลงาน เป็นรายงานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้บังคับบัญชา
ผู้ร่วมงานหรือผู้สนใจทราบ
1.2 รายงานการประชุม เป็นคำนามแปลว่า รายละเอียดหรือสาระของการประชุมที่จดไว้เป็นทางการ
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 , 2546 : 953) เป็นการบันทึกเรื่องราวต่างๆ
ที่องค์ประชุมกล่าวถึง
1.3 รายงานข่าว คือ การรายงานโดยใช้วิธีเขียนหรือพูด เพื่อรายงานเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
1.4 รายงานเหตุการณ์
เป็นรายงานซึ่งเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้รายงานเพื่อบอกเรื่องราวเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ
ที่เป็นอยู่หรือเกิดขึ้นในขณะนั้น เสนอต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้เกี่ยวข้องทราบ
ได้แก่ รายงานการอยู่เวรรักษาการณ์ รายงานอุบัติเหตุรถชนกัน
รายงานเกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นต้น ซึ่งส่วนมากเป็นการเขียนรายงานอย่างสั้น
เป็นการเขียนที่เน้นข้อเท็จจริง และความถูกต้องของข้อมูล
ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาทางการหรือถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ กะทัดรัด ชัดเจน
ตรงประเด็น และคงเส้นคงวา
2. รายงานทางวิชาการ คือ
รายงานผลของการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มุ่งเสนอผลที่ได้ตามความเป็นจริง ซึ่งต้องทำตามขั้นตอน มีระบบ
มีระเบียบแบบแผนที่เป็นสากล โดยมีหลักฐานและการอ้างอิงประกอบ แล้วเขียนหรือพิมพ์ให้ถูกต้องตามรูปแบบที่สถาบันนั้นๆ
กำหนด และถือว่ารายงานเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการเรียนการสอนของวิชานั้นๆ
ด้วย
วัตถุประสงค์
และความสำคัญของรายงานทางวิชาการ
รายงานมีความสำคัญต่อผู้ศึกษา ดังต่อไปนี้
1.
ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
ในเรื่องที่สนใจได้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง
2.
ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักแหล่งข้อมูลต่างๆ
และเกิดทักษะรู้วิธีการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลนั้นๆ ได้อย่างถูกวิธี
3.
ช่วยฝึกทักษะด้านการอ่าน โดยอ่านได้เร็ว อ่านแล้วสามารถจับใจความของเรื่องที่อ่านได้
สามารถสรุปได้ วิเคราะห์ได้ และจดบันทึกได้
4.
ช่วยฝึกทักษะทางด้านการเขียน สามารถสื่อความหมายโดยการเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รู้ขั้นตอน รู้รูปแบบของการเขียนรายงานแล้วนำเอาหลักการและแบบแผนในการเขียนรายงานไปปรับใช้ในการเขียนงานทางวิชาการอื่นๆ
ได้ เช่น ภาคนิพนธ์ สารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ตำรา
เป็นต้น
5.
ช่วยฝึกทักษะทางด้านการคิด คือสามารถคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ได้
โดยใช้วิจารณญาณของตนเอง แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล
โดยมีหลักฐานอ้างอิง แล้วรวบรวมเรียบเรียงข้อมูลความคิด ที่ได้ให้เป็นเรื่องราวได้อย่างมีขั้นตอน
มีระบบ เป็นระเบียบ
6.
สามารถเขียนรายงานประกอบการเรียนได้อย่างถูกต้องตามแบบแผน
และเป็นพื้นฐานในการศึกษาขั้นสูงต่อไป
7.
ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลของแต่ละวิชา
ประเภทของรายงานทางวิชาการ
รายงานวิชาการแบ่งประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1.
รายงานการค้นคว้าทั่วไป แบ่งได้เป็น
1.1 รายงาน (Report) เป็นผลการศึกษาค้นคว้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประกอบการเรียนในรายวิชา
(ในรายวิชาหนึ่งอาจมีรายงานได้หลายเรื่อง)
รายงานในวิชาใดจะมีเนื้อหาอยู่ในขอบข่ายวิชานั้น
โดยอาจใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีประกอบกัน เช่น
การศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร การสังเกต การทดลอง เป็นต้น ในแง่การจัดทำ
อาจเป็นรายงานเดี่ยวหรือรายงานกลุ่ม
สำหรับความยาวของรายงานและกำหนดเวลาทำจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขอบเขตของหัวข้อรายงานและการตกลงกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน
โดยทั่วไปใช้เวลาน้อยกว่า 1 ภาคเรียน
1.2 ภาคนิพนธ์
หรือรายงานประจำภาค (Term paper) มีลักษณะเช่นเดียวกับรายงาน เพียงแต่เรื่องที่ใช้ทำภาคนิพนธ์จะมีขอบเขตกว้างและลึกซึ้งกว่า
ใช้เวลาค้นคว้ามากกว่า ความยาวของเนื้อหามากกว่า
ดังนั้นผู้เรียนจึงมักจะได้รับมอบหมายให้ทำเพียงเรื่องเดียวในแต่ละรายวิชาต่อภาคการศึกษา
2. รายงานการค้นคว้าวิจัย
แบ่งได้เป็น
2.1 รายงานการวิจัย (Research
Report) เป็นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าและวิจัยในเรื่องหรือปัญหาเฉพาะที่ต้องการคำตอบหรือความรู้เพิ่มเติม
ต้องมีความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยมาก่อน
มีวิธีดำเนินการอย่างมีระเบียบ
มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงหรือหลักการบางอย่าง
2.2 วิทยานิพนธ์ หรือ
ปริญญานิพนธ์ (Thesis or Dissertation) มีลักษณะเช่นเดียวกับรายงานการวิจัยและถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต
เรียกว่า วิทยานิพนธ์ (Thesis) และปริญญาดุษฎีบัณฑิต
เรียกว่า ปริญญานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ หรือสาระนิพนธ์ (Dissertation) เป็นเรื่องทำเฉพาะบุคคล กำหนดเวลาทำไม่เกินระยะเวลาเรียนของหลักสูตรนั้น
ลักษณะของรายงานที่ดี
1.
มีการนำหลักการและ/หรือทฤษฎีมาใช้อย่างเหมาะสม เนื่องจากในการศึกษาค้นคว้า
จะต้องมีการวิเคราะห์เนื้อหา โดยมีหลักการหรือทฤษฎีมารองรับอย่างเหมาะสม หลักการหรือทฤษฎีดังกล่าวควรเป็นที่ยอมรับในแวดวงสาขาวิชาการนั้นๆ
พอควร และตรงกับเรื่องที่ศึกษาค้นคว้า
2.
มีการแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม เช่น
เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่เคยมีผู้ทำมาก่อน หรือเคยมีผู้ทำแต่ไม่ชัดเจนเพียงพอ
3.
ความสมบูรณ์และความถูกต้องของเนื้อหาสาระ เนื้อหาสาระต้องสมบูรณ์ตามชื่อเรื่องที่กำหนด
และถูกต้องในข้อเท็จจริง การอ้างอิงที่มาหรือแหล่งค้นคว้าต้องถูกต้อง เพื่อแสดงจรรยามารยาทของผู้เขียน
และเป็นแหล่งชี้แนะให้ผู้สนใจได้ติดตามศึกษาค้นคว้าต่อไป
การค้นคว้าควรศึกษามาจากหลายแหล่ง
4.
ความชัดเจนของการเขียนรายงาน
จะต้องมีความชัดเจนในด้านลำดับการเสนอเรื่อง มีความสามารถในการใช้ภาษา
และการนำเสนอตาราง แผนภูมิ/ภาพประกอบ ทั้งนี้เพื่อให้การนำเสนอเนื้อหาชัดเจน
เข้าใจง่าย เป็นระเบียบไม่ซ้ำซ้อนสับสน
การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน
1.
ควรใช้ภาษาหรือสำนวนโวหารเป็นของตนเองที่เข้าใจง่ายและถูกต้อง
2.
ใช้ประโยคสั้นๆ ให้ได้ใจความชัดเจน สมบูรณ์ ตรงไปตรงมา ไม่วกวน
3.
ใช้ภาษาที่เป็นทางการไม่ใช้ภาษาพูด คำผวน คำแสลง อักษรย่อ คำย่อ
4.
ใช้คำที่มีความหมายชัดเจน ละเว้นการใช้ภาษาฟุ่มเฟือย การเล่นสำนวน
5.
ระมัดระวังในเรื่องการสะกดคำ การแบ่งวรรคตอน
6.
ระมัดระวังการแยกคำด้วยเหตุที่เนื้อที่ในบรรทัดไม่พอ หรือหมดเนื้อที่ในหน้าที่นั้นเสียก่อน เช่น
ไม่แยกคำว่า “ละเอียด” ออกเป็น
“ละ” ในบรรทัดหนึ่งส่วน “ละเอียด” อยู่อีกบรรทัดต่อไปหรือหน้าต่อไป
7.
ให้เขียนเป็นภาษาไทย ไม่ต้องมีคำภาษาอังกฤษกำกับ
ถ้าเป็นคำใหม่หรือศัพท์วิชาการในการเขียนครั้งแรกให้กำกับภาษาอังกฤษไว้ในวงเล็บ
ครั้งต่อๆ ไปไม่ต้องกำกับภาษาอังกฤษ
หลักการเขียนรายงานทางวิชาการ
ส่วนประกอบของรายงานทางวิชาการ
มีลักษณะ ดังนี้
1.1 ส่วนประกอบตอนต้น
มีส่วนประกอบตามลำดับดังนี้
1.1.1 หน้าปก (ปกนอก)
1.1.2 หน้าชื่อเรื่อง (ปกใน)
1.1.3. คำนำ (กิตติกรรมประกาศ)
1.1.4. สารบัญ
1.1.5. สารบัญตาราง
1.1.6. สารบัญภาพประกอบ
1.2 ส่วนประกอบตอนกลาง
(เนื้อเรื่อง) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของรายงาน
แบ่งแยกเนื้อหาที่เขียนเป็นบทอย่างมีระบบระเบียบ ตามลำดับ
รายงานทางวิชาการมีโครงสร้างมาตรฐาน
5 บท คือ
บทที่ 1 บทนำ
บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
บทที่ 3 วิธีดำเนินการศึกษา
บทที่ 4 ผลการศึกษา
บทที่ 5 สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบ
ที่สำคัญของเนื้อเรื่อง ได้แก่
การอ้างอิงจากการศึกษาค้นคว้า
แบบเชิงอรรถท้ายหน้า หรืออ้างอิงแทรกในเนื้อหา (นามปี) ข้อมูลสารสนเทศ
ตารางประกอบ แผนภูมิ ภาพประกอบ
1.3 ส่วนประกอบท้าย ได้แก่ บรรณานุกรม ภาคผนวก และอภิธานศัพท์
เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมจากเนื้อเรื่อง เช่น การอ้างอิงที่ได้ระบุไว้ในเชิงอรรถ ก็นำมาระบุไว้ในบรรณานุกรมท้ายเล่ม
รายละเอียดต่าง ๆ เช่น ตารางข้อมูลแผนงาน โครงการ บันทึกประจำวัน
สำหรับผู้สนใจรายละเอียด
ที่มา :